ยินดีต้อนรับ..ทุกคนที่แวะมาพักสายตาที่นี่ค่ะ...

วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ไตวาย


ไตวายเฉียบพลัน

เมื่อหลายวันก่อนผมอยู่เวรห้องฉุกเฉิน ก็มีคนพาผู้ป่วยสูงอายุมาที่โรงพยาบาลด้วยเรื่องเรียกไม่รู้สึกตัว หลังจากตรวจร่างกายทั่วไปในเบื้องต้นก็พบว่าผู้ป่วยรู้สึกตัวเพียงเล็กน้อย ง่วงๆหลับๆตลอดเวลา เวลาจับไปที่มือและเท้ารู้สึกว่าเย็นๆแต่ตามซอกคอตัวร้อนจี๋เมื่อถามประวัติจากญาติไม่ได้อะไรเพิ่มเติมก็เลยลองจับวัดไข้วัดความดัน ก็เจอว่าความดันโลหิตต่ำมีไข้สูง และพบว่าปัสสาวะมีเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก เมื่อตรวจทุกอย่างเสร็จสรรพ ผมก็บอกกับญาติว่าผู้ป่วยมีอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดและน่าจะเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล ก็ตรวจพบว่ามีปัสสาวะออกน้อย ร่วมกับตรวจพบลักษณะของน้ำเกินอยู่ในร่างกาย(มีน้ำท่วมปอด) ...
วันรุ่งขึ้นผลเลือดที่ออกมาก็ชี้ให้เห็นว่าไตของผู้ป่วยทำงานได้น้อยลง ..... หรือที่เรียกกันว่า "ไตวาย" ผมจึงได้พูดคุยกับญาติถึงโรคที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่และความรุนแรงของโรคในขณะนั้น
ไต เป็นอวัยวะที่อยู่ตรงระดับบั้นเอวทั้งสองข้าง หน้าที่ก็อย่างที่เรารู้ๆกันก็คือ
- ทำหน้าที่ขับถ่ายน้ำออกจากร่างกาย
- ขับถ่ายสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการออกจากร่างกาย
- ปรับระดับของสมดุลของสารต่างๆในร่างกาย ซึ่งหากมีมีมากหรือน้อยไปจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ปลีกย่อยอีกหลายอย่างที่อาจจะไม่ได้เห็นชัดเจนในช่วงที่เกิดอาการแบบเฉียบพลัน ซึ่งหน้าที่ต่างๆของไตเหล่านี้จะอธิบายถึงอาการที่จะตามมาเมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันขึ้นมา
เฉียบพลันกับเรื้อรัง ต่างกันที่ตรงไหน ส่วนมากคนทั่วไปจะมองเรื่องไตวายว่าเป็นไตวาย โดยที่ไม่ได้แยกว่าเป็นไตวายแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะว่าทั้งสองส่วนนี้มีความแตกต่างกันทั้งจากสาเหตุและการรักษาไตวายเรื้อรัง มักเกิดจากโรคที่มีผลต่อเส้นเลือดเป็นเวลานานๆ เช่นเบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูงหรือโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อไตอย่างช้าๆ มีผลทีละน้อยจนกระทั่งไตค่อยๆเสียหาย กว่าจะเกิดได้ต้องกินเวลานานเป็นปีๆ ดังนั้นร่างกายจะเกิดอาการได้ก็ต้องเกิดช้าๆ กว่าจะมีอาการก็มักจะมีภาวะไตวายไปมากแล้วไตวายเฉียบพลัน มักเกิดกับโรคที่ส่งผลต่ออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับไตโดยตรง การเกิดเหตุมักเป็นเหตุที่เกิดอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ทันทีทันใด ดังนั้นร่างกายจะปรับตัวได้ไม่ทัน อาการจะเป็นอย่างเฉียบพลันรุนแรงไตวายเรื้อรัง เวลาเป็นแล้วมักจะหาย จะมีแตคงที่หรือถดถอยไตวายเฉียบพลัน โดยมากมักเป็นอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อแก้ปัญหาได้ก็มักจะหายเกือบเป็นปกติเหมือนไม่เคยเกิดอะไรมาก่อนดังนั้นความรุนแรงน่ากลัวจึงต่างกันไปครับ
สาเหตุ
สาเหตุที่ก่อให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้เป็นสิ่งที่เกิดแบบรุนแรงเฉียบพลัน
1. เลือดไม่ไปเลี้ยงไต ที่เจอได้บ่อยที่สุดก็คือ ความดันโลหิตต่ำมาก ...
ซึ่งในทางการแพทย์จะเรียกว่าช็อค (คนละแบบกับช็อคในละครหลังข่าว)เมื่อความดันต่ำมากจากเหตุใดๆก็ตาม ไตจะหยุดทำงานชั่วคราวเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมอง ถ้าเป็นเพียงชั่วคราวจะไม่เป็นอะไร แต่หากภาวะนั้นไม่ได้รับการแก้ไข ไตที่หยุดทำงานไปจะเกิดการหยุดทำงานนานกว่าปกติแม้ว่าร่างกายจะมีความดันเป็นปกติแล้วก็ตาม ......
ผู้ป่วยที่จะเป็นแบบนี้ได้ที่พบบ่อยคือ ผู้ที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เสียเลือดมาก แพ้อาหารแพ้ยาอย่างรุนแรง ท้องเสียและขาดน้ำเป็นเวลานานฯลฯ
2. เกิดความผิดปกติที่ตัวไตโดยตรง ที่เจอได้บ่อยๆคือร่างกายได้รับสารพิษหรือสารเคมีที่มีผลต่อไตเข้าไป , และในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ไตอย่างรุนแรง ทำให้ไตผิดปกติโดยตรง
3. การขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ มีการอุดตันที่ปลายทางออก เช่นมีนิ่วไปอุดท่อปัสสาวะ มีต่อมลูกหมากโตจนปัสสาวะไม่ออกแบบเฉียบพลัน
เวลาเป็นแล้วจะรู้ได้อย่างไร
คำตอบห้วนๆคือเจาะเลือดครับ เพราะว่าการเจาะเลือดเพื่อดูค่าการทำงานของไตและดูระดับสารที่คั่งเป็นตัวที่จะบอกได้ชัดเจนที่สุด โดยทั้งนี้ผลเลือดที่ออกมาจำเป็นจะต้องประกอบไปกับประวัติที่แพทย์ซักได้ร่วมกับการตรวจร่างกายที่ตรวจพบ ...
คนที่สมควรได้รับการเจาะตรวจค่าการทำงานของไตในเรื่องนี้ได้แก่
- คนที่มีภาวะช็อคหรือความดันต่ำ
- คนที่จำเป็นต้องได้รับยาหรือสารที่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อไต
- คนที่มีโรคทางเดินปัสสาวะที่เห็นชัดว่าเสี่ยงที่จะเกิดไตวาย
- คนที่ตรวจพบ หรือซักประวัติแล้วสงสัยว่าจะมีภาวะน้ำเกินในร่างกายหากตรวจแล้วพบว่ามีหรือไม่มีภาวะไตวายก็ตาม
แพทย์ก็จะพิจารณาตามประวัติอาการและการตรวจร่างกายว่าจะทำการตรวจซ้ำอีกหรือไม่ เพราะว่าบ่อยครั้งการตรวจในชั้นแรกอาจจะปกติและต่อมาไปพบว่าผิดปกติในภายหลังก็ได้
อาการที่จะเกิดขึ้น
อาการของไตหยุดทำงานเฉียบพลันนี้จะเป็นไปตามหน้าที่การทำงานของมัน นั่นคือ เมื่อเสียการทำงานของไตไป ในร่างกายก็จะเกิดการคั่งค้างของสารต่างๆและน้ำขึ้น จะส่งผลทำให้เกิดการบวมที่อวัยวะที่อยู่ต่ำๆ เกิดอาการนอนราบไม่ได้ มีอาการเหนื่อยเพลียจริงๆแล้วอาการพวกนี้คนทั่วไปอาจจะไม่จำเป็นต้องทราบก็ได้ครับ เพราะว่าอาการพวกนี้เวลาเป็นจะเป็นมากมายและรวดเร็วเสียจนไม่ต้องสังเกตอาการอะไรก็ต้องรีบไปโรงพยาบาล ...
(เอาเป็นว่าหากเกิดอาการขึ้นมา ไปให้แพทย์ตรวจเลยจะดีกว่าเพราะว่าตัวบวมเหนื่อยเพลียนอนราบไม่ได้ ก็ไม่ได้มีแต่ไตวาย)นอกจากนี้สาเหตุของไตวายบางตัวก็จะมีอาการรุนแรงจนต้องรีบไปโรงพยาบาลก่อนที่จะมีอาการของไตวาย (เช่นเสียเลือดมาก ไข้สูงจนช็อค)ดังนั้นข้ามๆอาการไปเลยก็ได้
การดูแลรักษา
การดูแลรักษาไตวายเฉียบพลันที่ทำกัน ก็คือยึดหลักง่ายๆว่า ไตไม่ทำงาน ทำให้น้ำและของเสียคั่งในร่างกายจนเกิดอาการผิดปกติ ดังนั้นการรักษาก็คือ จำกัดน้ำที่จะเข้าร่างกายให้เท่ากับที่น้ำที่เสียออกไปและลดของเสียที่จะเกิดในร่างกายให้น้อยที่สุด ฟังเผินๆดูง่ายแต่จริงๆยากนะครับ เพราะว่าของเสียที่เกิดขึ้นในร่างกายมีมากมายเป็นหลายร้อยชนิด นอกจากนี้สาเหตุของโรคที่ไปทำให้เกิดไตวายบางตัวก็ต้องใช้ยาในการรักษา (ยาที่ใช้รักษาบางตัวก็มีผลต่อไต)
ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดตามมาในการรักษาก็คือ
- จำกัดน้ำดื่ม และทำการตวงปัสสาวะทุกครั้งที่ถ่ายออกมมา
- เจาะเลือดตรวจหาการคั่งค้างของสารและตรวจการทำงานของไต ...บางทีอาจจะเจาะวันละครั้งหรือมากกว่านั้น
- รักษาสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามผู้ป่วยแต่ละรายการรักษาในส่วนปลีกย่อยจะต่างกันไปในไตวายเฉียบพลันของผู้ป่วยแต่ละราย เช่นในบางรายเราอาจจะเห็นว่าให้น้ำเกลือเร็วช้าไม่เท่ากัน บางรายไม่ได้ให้น้ำเกลือด้วยซ้ำ ... ยาที่ใช้อาจจะไม่เหมือนกัน ... สิ่งที่จะผู้ป่วยและญาติจะช่วยได้พอสมควรคือการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการดูแลร่างกายในช่วงที่ยังไม่หายดีครับ
- ต้องตวงปัสสาวะ ต้องควบคุมการกินน้ำและอาหารตามที่สั่งเท่านั้น อาหารที่จะกินได้ในช่วงนี้ควรจะใช้อาหารของโรงพยาบาลโดยงดการกินของเยี่ยมทั้งหลายจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- หลีกเลี่ยงการรักษาด้วยการรักษาแบบความเชื่อ (เช่นบางรายปรับน้ำเกลือเอง ไม่ยอมให้พยาบาลปรับ , บางรายเอาสมุนไพรมาต้มกินเองในรพ.) นอกจากว่าแพทย์จะอนุญาตในกลุ่มไตวายเฉียบพลันนี้เมื่อรักษาหายแล้วมักจะไม่มีอะไรตามมาครับ โดยมากมักจะหายไปเป็นปกติ ไม่ได้ต้องการการรักษาแบบยาวนานดังเช่นไตวายเรื้อรัง
สำหรับผู้ป่วยในเรื่อง หลังจากรักษาการติดเชื้อได้ก็ได้ให้กลับบ้านไปและนัดมาตรวจการทำงานของไตเป็นระยะ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการติดตามผลอยู่ครับ

หมอแมว http://www.mthai.com/

ไม่มีความคิดเห็น: